วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เมืองนานาชาติภูเก็ต “คนเกาะมะพร้าว” ไม่มีไฟฟ้าใช้


อนาถเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ อย่างจังหวัดภูเก็ต ชาวบ้านเกาะมะพร้าว ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เดือดร้อนหนักต้องจ่ายค่าปั่นไฟครัวเรือนละกว่า 4 พันบาท ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมร้องภาระหนักค่าปั่นไฟเดือนละกว่า 5 ล้าน เรียกร้องจังหวัดจี้การไฟฟ้าเร่งดำเนินโครงการสร้างระบบสายไฟฟ้าใต้น้ำ หลังรอมานานหลายปีแล้วแต่ยังไร้วี่แวว
      
       เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มิ.ย.55 ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายยูโหนบ เพ็ชรดี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะมะพร้าว หมู่ที่ 6 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วย นายศุภโชค ละอองเพชร อดีตส.อบจ.ภูเก็ต นายราเมษ รัตนกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะมะพร้าว น.ส.วิกันดา เควลตี้ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย และธุรการโรงแรมเดอะวิลเลจมะพร้าว รวมทั้งชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เข้าพบ นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบเชื่อมกระแสไฟฟ้าด้วยสายเคเบิล ใต้น้ำไปยังเกาะมะพร้าว ของการไฟฟ้าที่มีการเสนอโครงการไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งเรียกร้องให้ทางจังหวัดภูเก็ตช่วงผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านเกาะมะพร้าวไม่มีไฟฟ้าใช้
      
       นายยูโหนบ เพ็ชรดี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะมะพร้าว หมู่ที่ 6 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าว ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเกาะมะพร้าว จำนวนกว่า 180 ครัวเรือน ไม่มีไฟฟ้าใช้มานานหลายสิบปีแล้ว ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการขยายเขตไฟฟ้าเข้าไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงขณะนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายมีโครงการที่จะทำระบบสายเคเบิลใต้น้ำเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าเข้า ไปยังเกาะมะพร้าว แต่โครงการยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ชาวบ้านในพื้นที่จึงมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากทางจังหวัดให้ช่วยผลัก ดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ที่ขณะนี้ กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้
      
       สำหรับพื้นที่เกาะมะพร้าวนั้น นอกจากจะมีบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่กว่า 180 ครัวเรือน แล้ว ขณะนี้มีโรงเรียนจำนวน 1 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง สถานีอนามัย 1 แห่ง และมีโรงแรมและสถานประกอบการอื่นๆ อีกหลายแห่ง ชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันนี้ ชาวบ้านที่พอจะมีเงินก็จะใช้ระบบปั่นไฟมาใช้ แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเดือนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
      
       ขณะที่ นายราเมษ รัตนกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะมะพร้าว กล่าวว่า สำหรับไฟฟ้าที่ใช้ในโรงเรียนนั้น มาจากเครื่องปั่นไฟ โซลาร์เซลล์ และไฟฟ้าจากสถานประกอบการ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ ทำให้การเรียนการสอนของโรงเรียนทำได้ไม่เต็มที่เช่นกัน โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งโรงเรียนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้แต่ไม่สามารถที่จะใช้สอนเด็กได้ เพราะไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ เด็กนักเรียนไม่สามารถกลับไปอ่านหนังสือทบทวนที่บ้านได้ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องไฟฟ้า อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะขณะนี้ ทุกคนกำลังเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เมื่อมีโครงการแล้วก็ควรจะเร่งดำเนินการ
      
       นายราเมษ กล่าวต่อไปว่า การใช้ชีวิตบนเกาะมะพร้าวในช่วงกลางคืนลำบากมาก เพราะบนเกาะจะมืดไม่มีแสงสว่าง บางบ้านต้องอาศัยตะเกียง ชาวบ้านต้องระวังตัวเองจากสัตว์มีพิษที่ออกมาหากินในช่วงกลางคืน ที่ผ่านมา เคยมีคนเสียชีวิตจากการถูกงูกัดในช่วงกลางคืนมาแล้ว
      
       เช่นเดียวกับ น.ส.วิกันดา เควลตี้ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย และธุรการโรงแรมเดอะวิลเลจมะพร้าว กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของผู้ประกอบการก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่ละเดือนจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการปั่นไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงแรม และบางส่วนส่งให้แก่โรงเรียน ประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ถ้าทางการไฟฟ้าสามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาที่เกาะมะพร้าวได้ก็จะสามารถลดค่า ใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้จำนวนมากทีเดียว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดย เร็วที่สุด
      
       ขณะที่ นายวิจารณ์ ช่วยปลอด หัวหน้าแผนกบริการไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบกระแสไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่างๆ นั้น ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินโครงการขอขยายไป 3 เกาะด้วยกัน คือ เกาะมะพร้าว เกาะนาคา จ.ภูเก็ต และเกาะพระทอง จ.พังงา เดิมทั้ง 3 เกาะเสนอของบประมาณรวมเป็น 1 โครงการ แต่จากการดำเนินการพบว่า ในส่วนของเกาะพระทอง จ.พังงา จะต้องทำเรื่องของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการนั้นต้องใช้ระยะเวลานาน
      
       ทางการไฟฟ้าจึงต้องมาแยกโครงการ โดยขอดำเนินการในส่วนของเกาะมะพร้าว และเกาะนาคา จ.ภูเก็ตต่างหาก รวมทั้งในส่วนของเกาะมะพร้าว และเกาะนาคา จากเดินสายเคเบิลขนาด 70 ตารางมิลลิเมตร ก็ได้ขอเพิ่มขนาดเป็น 120 ตารางมิลลิเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณการใช้ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี-1 ปีครึ่ง สำหรับโครงการวางสายเคเบิลใต้น้ำจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะมะพร้าวมีระยะทาง ประมาณ 800 เมตร
      
       ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้นในระยะแรกทั้ง 3 เกาะ ขอใช้งบประมารในการดำเนินการประมาณ 200 กว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้เรื่องของงบประมาณก็ต้องมีการแยกมาด้วยโดยเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ส่วนกลางแล้ว
      
       ด้านนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เรื่องนี้ตนจะเร่งผลักดัน และติดตามความคืบหน้าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ ประชาชนในพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป