วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มอ.เร่งรับมือแก้ไขชายฝั่งอันดามันถูกกัดเซาะกว่า 40 จุด


ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า ชายหาดในฝั่งทะเลอันดามันมีปัญหาถูกกัดเซาะกว่า 40 จุด กระจายทั้ง 6 จังหวัด มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เร่งหาแนวทางและมาตรการแก้ไข
      
       วันที่ 10 พ.ค.55 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมการจัดทำแผนหลักและแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณชายฝั่งอันดามันเพื่อนำเสนอสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงมาตรการป้องกัน และระดมความคิดเห็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมี นายจำเริญ พิทยพงษ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันเข้าร่วม ณ โรงแรมคาทีน่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต
      
       ผศ.พยอม รัตนมณี หัวหน้าโครงการการจัดทำแผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามัน และแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อจัดทำเป็นแผนในการปฏิบัติต่อไป จาก การศึกษาพบว่า ชายฝั่งทะเลอันดามันประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งหมด 40 จุด กระจายใน 6 จังหวัด ตั้งแต่ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต จะมีปัญหาหลายจุดด้วยกัน เช่น ที่หาดราไวย์ หมู่บ้านชาวไทยใหม่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต หาดเลพัง หาดไนยาง บ้านท่าฉัตรไชย เป็นต้น
      
       จังหวัดพังงา ที่เกาะคอเขา แหลมปะการัง แหลมหัวกรังนุ้ย บ้านน้ำเค็ม เป็นต้น จังหวัดระนอง ที่อ่าวเคย อุทยานแห่งชาติแหลมสน บ้านเขาช้าง ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง บ้านทะเลนอก ต.กำพวน อ.สุขสำราญ เป็นต้น จังหวัดกระบี่ ที่บ้านท่าเลนเขาทองใต้ ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ หาดนพรัตนธารา บ้านแหลมโพธิ์-สุสานหอย บ้านปากหรา ต.ตลิงชัน อ.เหนือคลอง เป็นต้น จังหวัดตรัง ที่บ้านแหลมมะขาว ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา หาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา บ้านหัวหิน อ.สิเกา เป็นต้น และที่จังหวัดสตูล ที่บ้านทุ่งสะโป๊ะ ต.ทุ่งบุหลัง อ.ทุ่งหว้า ที่บ้านราไวใต้ ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า บ้านปากละงู อ.ละงู บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู เป็นต้น
      
       ผศ.พยอม กล่าวเพิ่มว่า ปัญหาการกัดเซาะทั้ง 40 จุด ชายฝั่งอันดามันนั้น เกิดจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น และคลื่นลมแรง ทำให้มีการกัดเซาะชายหาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ กำลังศึกษาถึงแนวทางและมาตรการในการป้องกัน ทั้งทางด้านวิศวกรรม มาตรการที่ไม่ใช่การก่อสร้าง เช่น การปลูกป่าชายเลน การปักไม้ไผ่ และการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น
      
       อย่างไรก็ตาม การกัดเซาะชายฝั่งอันดามันนั้น ไม่ได้รุนแรงเหมือนฝั่งอ่าวไทยที่มีการกัดเซาะรุนแรงมากในขณะนี้ และการแก้ปัญหาจุดใดจุดหนึ่งก็จะกระทบยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากชายหาดฝั่งอ่าวไทยเป็นแนวยาวที่ติดต่อกัน
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป