วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปภ.ซ้อมหนีภัยสึนามิให้ 6 จังหวัดอันดามัน เตรียมนำระบบวิทยุสื่อสารแก้ปัญหาโทรศัพท์ล่ม


กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ และฝึกซ้อมการเตือนภัย อพยพ หนีสึนามิ ให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน เตรียมพร้อมรองรับแผ่นดินไหวและสึนามิ เตรียมนำระบบวิทยุสื่อสารมาใช้ในช่วงเกิดภัยพิบัติ แก้ปัญหาระบบสื่อสารล่ม หลัง กสทช.อนุมัติคลื่นวิทยุเพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติ
      
       วันที่ 10 พ.ค.55 ที่โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดฝึกซ้อมการเตือนภัย การอพยพ และการเผชิญเหตุสึนามิขนาดรุนแรงในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค.2555 นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฎิ บัติการรองรับภัยจากสึนามิ ซึ่งมี พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันเข้าร่วม
          พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้พื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการรับมือจากคลื่น สึนามิที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้กำหนดแนวทางและมาตรการต่างๆ ทั้งระบบการแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุ และอพยพ
      
       โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดการฝึกซ้อมแผนรองรับภัยสึนามิใน พื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการฝึก ซ้อมการเตือนภัย การอพยพ และการเผชิญเหตุคลื่นสึนามิขนาดรุนแรง ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันขึ้น ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค.2555 นี้ ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการฝึกซ้อมในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อม และการเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับภัย จากคลื่นสึนามิ ซึ่งจะส่งผลให้การแจ้งเตือนภัย การบัญชาการและการประสานการปฎิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเอกภาพ และเป็นระบบ
           ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การซ้อมแผนอพยพสึนามิในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหา อุปสรรคในการปฎิบัติงานแล้ว ยังเป็นการทบทวน ตรวจสอบ ประเมินผล ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและแนวทางรองรับภัยจากคลื่นสึนามิ ส่งผลให้ประเทศไทยมีระบบการแจ้งเตือนภัย การบัญชาการเหตุการณ์ที่มีเอกภาพ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของไทยอีกทางหนึ่ง
      
       ส่วนการแจ้งเตือนภัยนั้น ได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1-2 ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการแจ้งเตือนภัย ระดับที่มีผลกระทบหลายพื้นที่ ให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้วิเคราะห์ก่อนประกาศแจ้งเตือนภัย และการแจ้งไปตามระบบราชการจากหน่วยงานที่สั่งการมายังผู้ว่าราชการจังหวัดไป ยังนายอำเภอ และท้องถิ่น
      
       สำหรับปัญหาเรื่องระบบการสื่อสารล่มในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและภัย พิบัตินั้น นายวิบูลย์ กล่าวว่า ทาง กสทช.ได้อนุมัติคลื่นความถี่วิทยุเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยโดยเฉพาะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถสื่อสารกันได้สะดวกขึ้นในช่วงเกิดภัยพิบัติ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในปีนี้
           ขณะที่ พ.ต.ท.ม.ร.ว.กิติบดี ประวิตร ผู้อำนวยการศูนย์การบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า หากเกิดภัยพิบัติและระบบสื่อสารที่ใช้กันอยู่ล่มไม่สามารถใช้งานได้ ทาง กสทช.ได้เห็นชอบให้นำระบบวิทยุสื่อสารมาใช้แทน โดยกำหนดความถี่ให้หน่วยงานราชการใช้ทั้งหมด 12 ช่องความถี่ และภาคเอกชน ประชาชน อาสาสมัครอีก 5 ช่องความถี่ เพื่อให้หน่วยงานราชการ ชุมชน และอาสามัครต่างๆ สามารถสื่อสารกันได้ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ โดยกำหนดคลื่นความถี่ช่องกลางไว้ 1 ช่อง เพื่อให้ประชาชน และอาสาสมัครต่างๆ เข้ามารับข้อมูล และส่งข้อมูลได้ โดยจะให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการรับ และส่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในปี 2555 นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งงบประมาณ และฝึกอบรมบุคลากร
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป